ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
main content, press tab to continue
บทความ

5 แนวทางเพื่อช่วยองค์กรจัดการเรื่องรูปแบบการทำงาน ค่าตอบแทน ความก้าวหน้าทางอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดย Lesli Jennings และ Roman Weidlich | 8 August 2023

สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นต่อเนื่องทำให้หลายองค์กรต้องปรับตัว ดังนั้น บทบาทที่สำคัญของผู้นำฝ่ายทรัพยากรบุคคลจึงเป็นการหาทางช่วยองค์กรจัดการกับปัญหาข้อท้าทายทั้ง 5 ประการให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Work Transformation|Employee Experience|Ukupne nagrade
N/A

ในยุคปัจจุบันที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจมีความผันผวนมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา อีกทั้งตลาดงานก็ยังอยู่ในภาวะซบเซาด้วยนั้น ทำให้ผู้นำฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะต้องเตรียมความพร้อมขององค์กรเพื่อให้สามารถดำเนินงานในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แนวทางการจัดการกับปัญหาข้อท้าทาย 5 ประการต่อไปนี้จะช่วยให้ผู้นำฝ่ายทรัพยากรบุคคลสามารถกำหนดรูปแบบการทำงาน รางวัลตอบแทน และโปรแกรมความก้าวหน้าทางอาชีพ เพื่อให้องค์กรสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้สำเร็จท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน

  1. 01

    รับมือกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    อัตราเงินเฟ้อยังเป็นเรื่องอันดับแรก ๆ ที่รัฐบาล ภาคธุรกิจ และพนักงานต่างพากันเป็นห่วงอยู่ อีกทั้งยังมีเรื่องการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะความสามารถในตลาด ซึ่งทำให้องค์กรประสบปัญหาด้านงบประมาณที่ต้องวางแผนเพื่อจัดสรรเงินเดือนให้พนักงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้รับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ได้นั้น องค์กรจึงต้องหาทางจัดการกับข้อกังวลของพนักงานให้ได้ พร้อมกับหาทางบรรเทาผลกระทบจากการขึ้นเงินเดือนที่อาจส่งผลต่อสถานภาพทางการเงินขององค์กรในระยะยาวด้วย

    สิ่งสำคัญคือ องค์กรที่มีการดำเนินงานทั่วโลกจะต้องตระหนักถึงความซับซ้อนของปัญหานี้เนื่องจากปัญหาและอุปสรรคที่ถือเป็นข้อท้าทายของการจ้างงาน การสร้างความผูกพัน และการรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรให้ได้นั้นมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศและกลุ่มพนักงาน ดังนั้น องค์กรจึงควรมีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับค่าจ้างและอัตราเงินเฟ้อของตลาดทั้งในปัจจุบันและที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต และใช้ข้อมูลดังกล่าวมาจัดทำเป็นข้อแนะนำด้านการจ่ายเงินเดือนในรูปแบบที่แข่งขันได้

    อย่างไรก็ตาม แนวทางการรับมือขององค์กรที่นำมาปฏิบัติใช้กับภาวะเงินเฟ้อนั้นควรเป็นไปในลักษณะที่มากกว่าการจ่ายค่าตอบแทนและควรมีการนำเสนอ Total Rewards ที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของพนักงานได้ครบ ซึ่งผลการวิจัยของเราระบุว่า นอกเหนือจากเรื่องของเงินเดือนแล้วนั้น พนักงานยังให้ความสำคัญในเรื่องผลประโยชน์ด้านสุขภาพและการเกษียณอายุ รูปแบบการทำงานที่มีความยืดหยุ่น และโอกาสที่จะก้าวหน้าเติบโตในการทำงานด้วย

  2. 02

    กำหนดกลยุทธ์การทำงานให้เหมาะสมกับเป้าหมายขององค์กร

    ในสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจที่มีความผันผวน องค์กรจะต้องสามารถเพิ่มผลผลิตโดยลดการใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากปัจจัยอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นและความต้องการซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงนั้นส่งผลทำให้เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัว ซึ่งอาจกระทบผลประกอบการของการดำเนินธุรกิจองค์กรได้ อีกทั้งปัจจัยของรูปแบบการทำงานใหม่ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละประเทศ ยังส่งผลทำให้องค์กรต้องหาทางสร้างสรรค์รูปแบบการทำงานให้มีความยั่งยืนและมีประสิทธิภาพในระยะยาว

    นอกจากนี้ องค์กรยังต้องดำเนินการให้พนักงานมีทักษะที่เหมาะสมต่อการทำงานในยุคปัจจุบัน พร้อมกับต้องคอยจับตาดูรวมถึงเตรียมความพร้อมรับมือกับความต้องการด้านทักษะใหม่ ๆ ในอนาคตที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการทำงาน ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับตลาด อุตสาหกรรม และประเทศ โดยในปัจจุบันมีองค์กรมากถึง 40% ที่ให้ความสำคัญต่อการยกระดับทักษะและการเพิ่มพูนทักษะของพนักงาน ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างด้านทักษะความสามารถและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันได้ และสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ องค์กรจะต้องพิจารณาด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินการด้านการเสริมสร้างทักษะของพนักงานให้มีความเหมาะสมด้วย

    นอกจากนี้ ในช่วงเวลาที่สถานการณ์ต่าง ๆ มีความไม่แน่นอนเช่นนี้ องค์กรบางแห่งอาจต้องตัดสินใจเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก ซึ่งส่งผลต่อความรู้สึกผูกพันและประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน รวมถึงภาพลักษณ์ขององค์กรด้วย ในกรณีนี้ สิ่งสำคัญที่องค์กรจะต้องทำคือการสื่อสารด้วยความโปร่งใสเพื่อให้พนักงานเข้าใจถึงเหตุผลของการเลิกจ้างและผู้นำองค์กรจะต้องแสดงออกซึ่งความเห็นอกเห็นใจเพื่อให้พนักงานยังรู้สึกไว้วางใจในองค์กรอยู่

  3. 03

    ปรับ Total Rewards ให้พร้อมเพื่อรับมือกับทุกสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ

    อัตราเงินเฟ้อทำให้องค์กรต้องแบกรับกับค่าใช้จ่ายด้าน Total Rewards ที่สูงขึ้น พร้อมกับต้องหาทางดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีทักษะสำคัญให้อยู่กับองค์กรต่อไปให้ได้ และพนักงานเองก็ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อเช่นกัน ด้วยค่าครองชีพที่สูงขึ้นนั้นทำให้พนักงานหลายคนประสบปัญหาด้านการเงินจนเกิดภาวะความตึงเครียดตามมา ซึ่งอาจส่งผลต่อความรู้สึกผูกพันที่มีต่อองค์กร รวมถึงสมรรถภาพและประสิทธิภาพในการทำงานด้วย

    ข้อท้าทายที่องค์กรต้องเผชิญคือการส่งมอบ Total Rewards ให้แก่พนักงานโดยยังรักษาระดับของคุณค่าให้เท่าเดิมหรือสูงขึ้น โดยเฉพาะพนักงานในกลุ่มทักษะสำคัญ พร้อมกับหาทางลดค่าใช้จ่ายจากการส่งมอบคุณค่าดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพควบคู่กัน โดยองค์กรอาจต้องเริ่มประเมินค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ของโปรแกรมผลประโยชน์ที่มอบให้พนักงาน ไม่ว่าจะเป็นด้านการดูแลสุขภาพ ผลตอบแทน และการเกษียณอายุ และองค์กรควรคาดการณ์ด้านค่าใช้จ่ายในอนาคตโดยพิจารณาตามสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นด้วย เพื่อให้องค์กรสามารถนำเสนอโปรแกรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของพนักงานได้นั้น องค์กรจะต้องมีความเข้าใจถึงความต้องการและความคาดหวังของพนักงานด้วยกลยุทธ์ต่าง ๆ ในการรับฟังความคิดเห็นของพนักงาน และจะต้องจัดทำ Total Rewards ขององค์กรให้สอดคล้องกับความต้องการและความคาดหวังของพนักงาน

    องค์กรควรออกแบบโปรแกรม Total Rewards ให้มีความยืดหยุ่นแก่ทั้งองค์กรและพนักงาน เพื่อให้องค์กรสามารถปรับเปลี่ยนค่าใช้จ่ายได้ตามสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในขณะนั้น และเพื่อให้พนักงานได้รับผลประโยชน์จาก Total Rewards ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน

  4. 04

    ปรับเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

    หลายองค์กรประสบปัญหาด้านประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงซึ่งเกิดจากปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทาน การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและกลุ่มพนักงานที่เป็นกำลังสำคัญ ดังนั้น ผู้นำฝ่ายทรัพยากรบุคคลขององค์กรจึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยปรับเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภายในองค์กรได้

    เพื่อให้ระบุถึงปัญหาด้านประสิทธิภาพการทำงานและปรับเปลี่ยนการออกแบบตำแหน่งงาน ข้อกำหนดด้านทักษะ และเส้นทางความก้าวหน้าทางอาชีพได้นั้น สิ่งสำคัญที่องค์กรจะต้องทำคือการรวบรวมข้อมูลในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ได้มากที่สุด ซึ่งองค์กรอาจต้องทำการวัดเทียบประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรกับองค์กรโดยพิจารณาตามปัจจัยต่าง ๆ เช่น ขนาดและโครงสร้างองค์กร รวมถึงจะต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยภายในด้วย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของแนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงในแง่ของประสิทธิภาพการทำงาน ความรู้สึกผูกพัน และอัตราการลาออกของพนักงาน เป็นต้น นอกจากนี้ องค์กรยังต้องคอยจับตาดูทักษะใหม่ ๆ ที่กำลังมีความสำคัญและเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมในอนาคตด้วย

    การรวบรวมข้อมูลดังกล่าวจะช่วยให้องค์กรมีความเข้าใจถึงช่องว่างด้านประสิทธิภาพการทำงานและสาเหตุได้ดียิ่งขึ้น เช่น ช่องว่างดังกล่าวเกิดจากการออกแบบขององค์กรที่เป็นอุปสรรคทำให้ขาดสภาพความคล่องตัวหรือไม่ หรือช่องว่างดังกล่าวเกิดจากความรู้สึกผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กรในระดับต่ำ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการทำงานและผลตอบแทนหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น หลายองค์กรยังคงประสบปัญหาในการหาทางจัดการกับรูปแบบการทำงานแบบไฮบริดให้มีประสิทธิภาพอยู่ และมีหลายองค์กรเช่นกันที่เลือกบังคับให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานที่สำนักงานเพื่อแก้ปัญหาด้านประสิทธิภาพการทำงาน หากองค์กรมีความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับปัญหาด้านประสิทธิภาพการทำงาน องค์กรก็จะสามารถปรับเปลี่ยนในเรื่องของค่าจ้างและรางวัลตอบแทนใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดด้านประสิทธิภาพการทำงานรูปแบบใหม่

    เพื่อให้มีการปรับเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานอยู่อย่างต่อเนื่อง องค์กรจะต้องมีการพิจารณาทบทวนองค์ประกอบทุกด้านที่เกี่ยวกับการพัฒนาและความก้าวหน้าทางอาชีพของพนักงานภายในองค์กร และจะต้องให้การสนับสนุนและการฝึกอบรมแก่พนักงานระดับผู้จัดการเพื่อให้พร้อมรับมือกับรูปแบบการทำงานแบบใหม่ แต่ข้อค้นพบจากการสำรวจด้านกลยุทธ์และการออกแบบด้านความก้าวหน้าทางอาชีพ ปี 2023 ระบุว่า องค์กรส่วนใหญ่ยังไม่มีการดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาและความก้าวหน้าทางอาชีพมากนัก โดยพบว่า องค์กรที่มีโครงสร้างและการกำหนดตำแหน่งงานภายในองค์กรมีเพียง 54% เท่านั้น และมีเพียง 22% เท่านั้นที่มีกลยุทธ์ด้านการพัฒนาและความก้าวหน้าทางอาชีพภายในองค์กร

  5. 05

    ช่วยองค์กรลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มผลประกอบการ

    เมื่อองค์กรประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและต้องหาทางแข่งขันกับองค์กรคู่แข่งให้ได้นั้น ทีมผู้บริหารขององค์กรจะหันมาหาฝ่ายทรัพยากรบุคคลเพื่อขอความช่วยเหลือในการอุดช่องว่างหรือแก้ไขปัญหาด้านผลประกอบการขององค์กร (เช่น ในส่วนที่เกี่ยวกับอัตรากำไร กระแสเงินสด ฯลฯ) กลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้มีดังนี้

    • การทำความเข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องลดค่าใช้จ่าย ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะต้องทำงานร่วมกับองค์กรเพื่อดูว่าค่าใช้จ่ายขององค์กรมีอะไรบ้างและประเมินว่าจะต้องลดค่าใช้จ่ายเท่าใด การวางแผนสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจะสามารถช่วยให้องค์กรเข้าใจถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจทำให้องค์กรประสบปัญหาทางการเงิน
    • กำหนดมาตรการลดค่าใช้จ่าย มาตรการลดค่าใช้จ่ายขององค์กรจะต้องมีความสอดคล้องกันกับคุณค่าด้านรางวัลตอบแทนที่องค์กรยึดมั่นนำเสนอแก่พนักงาน โดยมาตรการที่นำมาใช้อาจมีตั้งแต่การเปลี่ยนการออกแบบโปรแกรมที่มีอยู่ไปจนถึงการปรับเปลี่ยนเฉพาะกลุ่มพนักงานในลักษณะที่จำกัดการลดค่าใช้จ่ายเรื่องสำคัญ
    • ประเมินการออกแบบตำแหน่งงานและปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อให้องค์กรลดค่าใช้จ่ายได้สำเร็จ องค์กรอาจต้องปรับเปลี่ยนบทบาทและระดับของตำแหน่งงานภายในองค์กร และผู้นำฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะต้องเป็นผู้คอยชี้แนะแนวทางให้แก่องค์กรในการทำความเข้าใจและการปฏิบัติตามแนวทางการทำงานรูปแบบใหม่เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายขององค์กร ซึ่งองค์กรอาจทดลองใช้บริการทรัพยากรบุคคลจากแหล่งอื่นภายนอก เช่น การว่าจ้างลูกจ้างชั่วคราว
    • จำลองผลกระทบและความเสี่ยง การสร้างแบบจำลองสถานการณ์การลดค่าใช้จ่ายสามารถช่วยให้องค์กรมองเห็นได้ว่า การลดค่าใช้จ่ายจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งในทางการแข่งขันหรือค่าใช้จ่ายทั้งหมดขององค์กรได้หรือไม่ องค์กรยังสามารถใช้แบบจำลองดังกล่าวเพื่อดูถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เช่น การลาออกของพนักงานที่มากกว่าที่คาดการณ์ไว้อันเป็นผลจากการลดค่าใช้จ่ายขององค์กร
    • สื่อสารให้ชัดเจน ผู้นำองค์กรควรมีการสื่อสารอย่างชัดเจนถึงผลกระทบของการลดค่าใช้จ่ายที่ส่งผลต่อพนักงานและการดำเนินธุรกิจขององค์กร และผู้นำองค์กรจะต้องคาดการณ์ถึงการปรับเปลี่ยนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว การสื่อสารอย่างโปร่งใสนั้นมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีการเลิกจ้างหรือปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ เพราะการสื่อสารที่โปร่งใสจะช่วยลดผลกระทบเชิงลบต่อความรู้สึกผูกพันและประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน หรือภาพลักษณ์ขององค์กรได้

      หลายประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะออกกฎระเบียบที่กำหนดให้องค์กรต่าง ๆ มีความโปร่งใสในด้านการจ่ายค่าตอบแทนมากขึ้น ดังนั้นองค์กรจึงควรมีการสื่อสารเกี่ยวกับกลยุทธ์และโครงสร้างการมอบรางวัลตอบแทนแก่พนักงานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสีย (เช่น ผู้บริหาร พนักงาน พนักงานในอนาคต หน่วยงานกำกับดูแล) มีความเข้าใจถึงแนวทางการดำเนินโปรแกรมด้านผลประโยชน์ที่เป็นธรรมขององค์กร

ความพร้อมรับมือในทุกสถานการณ์

ผู้นำฝ่ายทรัพยากรบุคคลคือผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเตรียมองค์กรให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน การกำหนดรูปแบบการทำงาน การมอบรางวัลตอบแทนให้พนักงาน และการสร้างสรรค์โปรแกรมความก้าวหน้าทางอาชีพที่จะช่วยนำพาองค์กรก้าวผ่านช่วงเวลาอันยากลำบากได้นั้นคือสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรมีความพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หากต้องการติดตามรับฟังเนื้อหาใหม่ ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง อย่าลืมอ่านบทความของเราที่กำลังจะเผยแพร่ต่อไปในซีรีส์เจาะลึกที่เราเน้นนำเสนอเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมขององค์กรเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในเรื่องของการทำงาน การมอบรางวัลตอบแทนและโปรแกรมความก้าวหน้าทางอาชีพขององค์กร

ผู้เขียน

North America Work, Rewards & Careers Practice Leader

International Work, Rewards and Careers Practice Leader

Contact us